ขั้นตอนและวิธีการศึกษาโครงการ
1.การทบทวนการศึกษาและแผนพัฒนาที่เกี่ยวข้อง
1) ทบทวนแผนยุทธศาสตร์และนโยบาย ทบทวนแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิบัติการด้านคมนาคม กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งระดับทวิภาคและระดับพหุภาคี แผนปฏิบัติราชการของกรมทางหลวง แผนพัฒนาระดับภาคและจังหวัด แผนพัฒนาผังเมือง รวมทั้งนโยบายและแผนงานโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน
2) ทบทวนการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ศึกษา รวบรวม และทบทวนข้อมูลแผนงานหรือผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด่านชายแดนของประเทศไทย รวมถึงโครงการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งเพื่อสนับสนุนการเดินทางเชื่อมต่อการค้าระหว่างประเทศ ทางอากาศ ทางถนน ทางรางและทางน้ำ มาพิจารณาประกอบในการศึกษา
3) รวบรวมข้อมูลที่สำคัญบริเวณด่านชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในปัจจุบันที่เป็นประโยนช์ต่อการศึกษา
2.การพิจารณาหลักเกณฑ์และการคัดเลือกโครงการ
1) เสนอหลักเกณฑ์ที่ใช้คัดเลือกพื้นที่โครงการและมีศักยภาพในการพัฒนาโครงข่ายทางหลวง รองรับการเชื่อมต่อประตูการค้าระหว่างประเทศ ให้แก่กรมทางหลวงพิจารณาก่อนดำเนินการ
2) เสนอพื้นที่โครงการที่เหมาะสมและมีศักยภาพในการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงรองรับการเชื่อมต่อประตูการค้าระหว่างประเทศ พร้อมกับโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในพื้นที่โดยจะต้องคัดเลือกพื้นที่โครงการอย่างน้อย 20 พื้นที่โครงการ และระยะทางรวมของโครงการพัฒนาทางหลวงต้องไม่น้อยกว่า 250 กิโลเมตร
3.การศึกษาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
1) ศึกษา สำรวจ และวิเคราะห์ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคม ของพื้นที่โครงการและพื้นที่อิทธิพลของโครงการ ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่สำคัญในแต่ละพื้นที่
2) ศึกษาและวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงอื่นที่จะมีผลต่อปริมาณการจราจรในอนาคต
4. การศึกษาด้านการจราจรและขนส่ง
1) รวบรวมข้อมูลปริมาณจราจรของสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง อย่างน้อย10 ปีย้อนหลัง และสำรวจปริมาณจราจรเพิ่มเติม ประกอบด้วย การสำรวจปริมาณจราจรบนช่วงถนนการสำรวจปริมาณจราจรบริเวณทางแยก การสำรวจจุดต้นทาง - ปลายทางการเดินทาง
2) ศึกษาและจัดทำแบบจำลองด้านจราจรที่คาดการณ์ปริมาณจราจรบนโครงข่ายที่สำคัญในแต่ละพื้นที่โครงการ ตลอดอายุโครงการ โดยจะต้องวิเคราะห์เปรียบเทียบกรณีมีโครงการ และกรณีไม่มีโครงการ
5. การศึกษาด้านวิศวกรรม
1) กำหนดแนวคิดเบื้องต้นในการพัฒนาโครงการที่เหมาะสม โดยจัดเตรียมแผนที่ภาพถ่ายออร์โธสีเชิงเลขและแผนที่เส้นชั้นความสูง ความละเอียดอย่างน้อย 1:4,000 ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดในแต่ละพื้นที่โครงการที่ทำการศึกษา
2) สำรวจและจัดทำภาพถ่ายทางอากาศ ด้วยอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดในแต่ละพื้นที่โครงการที่ทำการศึกษา
3) จัดทำแบบแนวคิดเบื้องต้น (Conceptual Design) ในแต่ละพื้นที่โครงการที่ทำการศึกษา เพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของโครงการ
4) ประมาณวงเงินลงทุนเบื้องต้นของโครงการ ซึ่งประกอบด้วย ค่าก่อสร้าง ค่าบำรุงรักษา และค่าเวนคืนที่ดิน ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยวิธีการที่เหมาะสม
6. การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น
1) ทบทวนนโยบาย แผนต่าง ๆ รวมทั้งคำสั่ง กฎ ระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และรายงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับโครงการ
2) รวบรวมและตรวจสอบข้อมูลพื้นที่อ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และจัดทำฐานข้อมูลทางด้านสิ่งแวดล้อมในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS)
3) นำข้อมูลที่ได้จากข้อ 1) และ 2) มาวิเคราะห์และสรุปรายละเอียดโครงการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) หรือ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
4) รวบรวมข้อมูลสภาพสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันในแต่ละพื้นที่โครงการ ให้ครอบคลุมองค์ประกอบทั้ง 4 องค์ประกอบหลัก มาทำการประเมินผลกระทบในเบื้องต้นโดยวิธี Checklist และจัดทำเป็นมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น
5) นำข้อมูลที่ได้ มาประเมินค่าใช้จ่ายทางด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น
7. การมีส่วนร่วมของประชาชน
1) เสนอแผนการดำเนินงานการเผยแพร่ข้อมูลโครงการ ให้ครอบคลุมตลอดระยะเวลาการศึกษา
2) เผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อท้องถิ่นหลากหลายช่องทาง เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชนตลอดระยะเวลาการศึกษาเป็นระยะ ๆ รวมทั้งให้จัดทำ Website และให้ข้อมูลผ่านช่องทางอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ของโครงการฯ เช่น Facebook Page หรือ Application Line เป็นต้น
3) จัดให้มีการประชุมเพื่อนำเสนอรายละเอียดโครงการ ได้แก่ การปฐมนิเทศโครงการ จัดให้มีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่โครงการเพื่อรับทราบข้อคิดเห็นและข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นกับการพัฒนาพื้นที่โครงการ (ประชุมกลุ่มย่อย) พื้นที่โครงการละ 2 ครั้ง และการปัจฉิมนิเทศโครงการ
4) จัดคณะบุคลากรหลัก ไปนำเสนอ ชี้แจง และรับฟังข้อมูลจากหน่วยงานในภูมิภาคภายใต้สังกัดกรมทางหลวง
5) จัดทำและแก้ไขเอกสารประกอบการประชุมและสิ่งพิมพ์ที่จะนำไปเผยแพร่
6) รวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของการศึกษาด้านต่าง ๆ ของโครงการอย่างชัดเจน
7) จัดให้มีการดำเนินการประชาสัมพันธ์โครงการอย่างต่อเนื่อง
8.การศึกษาวิเคราะห์โครงการด้านเศรษฐกิจ
1) ประเมินเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ
2) การวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายของผู้ใช้ทาง (Road User Cost : RUC)
3) การประเมินผลประโยชน์ของโครงการ
4) การวิเคราะห์ความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจ
9. การจัดทำแผนพัฒนาทางหลวงแนวใหม่
1) ศึกษา วิเคราะห์และจัดลำดับความสำคัญของโครงการ โดยทบทวนแนวคิดและหลักการในการจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่าง ๆ ที่ผ่านมา และเสนอแนะแนวทางการจัดลำดับความสำคัญที่มีความชัดเจน เหมาะสม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
2) จัดทำแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงรองรับการเชื่อมต่อประตูการค้าระหว่างประเทศระยะ 20 ปี โดยแบ่งกลุ่มการพัฒนาเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว